วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2550

เราจะดูยังไง ว่าร่างกายเราขาดอะไร เช่นขาดวิตามิน ขาดโปรตีน แคลเซียม ธาตุต่างๆ มีวิธีการดูยังไง

การกินดี หมายถึง การกินอาหารให้ได้คุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน พอเพียงและพอดี อันจะนำมาซึ่งสุขภาพดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การกินดีอยู่ดีมาตลอดตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ย่อมจะส่งผลดีต่อไปในอนาคตคือ เป็นผู้ใหญ่วัยทองที่แข็งแรง ปราศจากโรค สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทำประโยชน์ให้กับครอบครัวและสังคมส่วนรวมได้ด้วย แต่ถ้าปฎิบัติตนไม่ถูกต้องทั้งในด้านการกิน การเสพ ผลก็คือเป็นผู้ใหญ่ที่แม้ว่าจะมีชีวิตยืนยาวก็ไม่สมบูรณ์ อาจมีโรคแห่งความเสื่อมรบกวน เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคกระดูกโปร่งบางหักง่าย โรคมะเร็ง ฯลฯ

การบริโภคอาหารด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสุขภาพอันดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต จำเป็นต้องอาศัยความรู้เรื่องคุณค่าของอาหาร ประกอบกับความตั้งใจแน่วแน่ที่จะบริโภคเพื่อสุขภาพมากกว่ารับประทานตามใจปาก โดยมีหลักปฏิบัติคือ

1. เลือกอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการดี

2. เลือกอาหารที่ประหยัด คือ อาหารที่หาง่ายในท้องถิ่นหรือมีตามฤดูกาลและรับประทานอย่างคุ้มค่า ไม่เหลือทิ้ง

3. เลือกอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษทั้งปวง เช่น สีสังเคราะห์ สารก่อมะเร็ง ฯลฯ

4. การเลือกอาหารให้มีความหลากหลายไม่จำเจในหมวดต่างๆ มีหลักดังนี้

หมวดข้าว ควรเป็นข้าวที่ไม่ขัดจนขาว ซึ่งจะได้รับใยอาหารและวิตามินที่ป้องกันโรคเหน็บชามากกว่าข้าวขาว

หมวดเนื้อสัตว์ แหล่งอาหารให้โปรตีนคุณภาพดีและมีไขมันน้อย เช่น เนื้อปลา ควรบริโภคทั้งปลาน้ำจืดซึ่งหาได้ง่ายในท้องถิ่น ปลาทะเลซึ่งให้ธาตุไอโอดีนป้องกันคอพอก และปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทู ปลาโอ ปลาซาบะ ซึ่งมีกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 ที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดตีบหรืออุดตันและจะทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือดตามมา พร้อมกับบริโภคเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ไม่มีมัน เช่น สันในไก่ สันในหมู

หมวดนม เด็กต้องดื่มนมมากๆ เพื่อความเจริญของกระดูก กระดูกจะได้ยาว เด็กจะมีความสูงเพิ่มขึ้นตามวัย (จะสูงเต็มที่ต้องออกกำลังกายประกอบกับการดื่มนม) ขณะเดียวกันควรดื่มเพื่อเป็นทุนสำรองไว้ในกระดูกให้มาก เพราะเมื่อเข้าสู่วัยทอง แม้เกลือแร่จะออกจากกระดูกไปบ้างตามธรรมชาติ แต่กระดูกก็ยังมีเกลือแร่และความหนาแน่นมากพอที่จะป้องกันไม่ให้กระดูกเปราะหักและแตกง่าย (เวลาที่ผู้สูงอายุล้ม) ขณะเดียวกันในวัยผู้ใหญ่ก็ต้องดื่มนมเพื่อรักษาไว้ซึ่งความแน่นแข็งแกร่งของกระดูก จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน เด็กดื่มนมกันมาก และคุณควรสนับสนุนให้ดื่มต่อไป ตลอดจนเข้าสู่ผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ ถ้าปฏิบัติได้เช่นนี้ ผู้ใหญ่ยุคใหม่จะย่อยน้ำตาลในนมได้ (เพราะมีนมไปกระตุ้นให้มีเอนไซม์แลคเทสออกมาอยู่เรื่อยๆ) ไม่ต้องดื่มนมเปรี้ยวในวัยทอง

ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วเขียว มีใยอาหารมาก หญิงวัยหมดประจำเดือน ควรดื่มนมถั่วเหลืองวันละ 1-2 แก้ว เพราะนมถั่วเหลืองมีสารช่วยลดโคเลสเตอรอลและชะลอการเกิดโรคกระดูกโปร่งบางในวัยสูงอายุ

หมวดไขมัน เลือกไขมันที่ดีที่สุด ประหยัดที่สุดคือ น้ำมันถั่วเหลืองผสมน้ำมันรำ 1:1 ในการประกอบอาหาร เพื่อป้องกันโรคไขมันในเลือดสูง อันจะนำไปสู่ภาวะหัวใจหรือสมองขาดเลือด คุณควรบริโภคไขมันให้น้อยลง งดอาหารที่ทอดอมน้ำมัน แกงกะทิ ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ติดมัน หมูสามชั้น เนย เนยเทียม

หมวดผัก เลือกผักจำพวกใบและมีสีเขียวเข้ม เช่น ใบตำลึง ผักกาด กวางตุ้ง คะน้า ผักจำพวกผล หัว สีแสดเข้ม (มีเบต้าแคโรทีนสูง) เช่น มะเขือเทศสุกสุดสีแดงจัด หัวแครอท เลือกผักที่ทราบว่าไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง เช่น ตำลึง ผักคะน้าต้นเล็กๆ ที่ยังอ่อน หรือคะน้าต้นโตที่มีรูพรุน อาหารจำพวกผักมีใยอาหารมาก ซึ่งจะช่วยป้องกันริดสีดวงทวารและมะเร็งลำไส้ใหญ่

หมวดผลไม้ จะได้ประโยชน์ด้านวิตามิน เกลือแร่และใยอาหาร โดยเฉพาะผลไม้สดสุกที่มีสีแสดส้ม เช่น มะละกอสุก หรือรับประทานผลไม้สดตามฤดูกาล เช่นส้ม สับปะรด ฝรั่ง ชมพู่ ฯลฯ การรับประทานผลไม้จะได้ประโยชน์มากกว่าการดื่มน้ำผลไม้ เพราะได้รับใยอาหารไปด้วยในคราวเดียวกัน

ดังนั้นทุกครั้งที่เลือกรับประทานอาหารหลักในแต่ละหมวด คุณต้องสำนึกอยู่เสมอว่า จะเลือกอาหารที่ดีสำหรับปัจจุบันและป้องกันอันตรายจากโรคแห่งความเสื่อมที่มักเกิดขึ้นในอนาคต

วิธีปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง

รับประทานอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน

1. หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีเชื้อรา เช่น ถั่วลิสง ข้าวสาร หัวหอม พริกแห้ง มะละกอสุก(ผิวเน่า) ถ้าพบว่ามีราสีดำให้ทิ้งได้ทันที

2. รับประทานผักผลไม้ที่สด สะอาดและปลอดสารพิษ จะช่วยให้ร่างกายได้รับใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ

3. งดหรือลดอาหารปิ้ง ย่าง ทอด ด้วยไฟแรงจนมีควัน และอาหารไหม้เกรียม เช่น หมูไม้ ไก่ย่าง

4. งดหรือลดอาหารเนื้อสัตว์ที่ใส่ดินประสิว เช่น แหนม เนื้อหรือปลาแดดเดียว แฮม เบคอน ไส้กรอก กุนเชียง

5. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์หมัก เช่น กะปิ ปลาร้า หอยดอง หากจะรับประทานต้องใช้ความร้อนทำให้สุกก่อน

6. หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัดและมันจัด

7. อย่ารับประทานอาหารร้อนจัด

8. ควรปฏิบัติตนให้ถูกสุขปฏิบัติ

- ระวังอย่าให้ท้องผูก

- งดสูบบุหรี่

- ทำจิตใจให้สบาย คลายความเครียด

วิธีปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคความดันโลหิตสูง หลักสำคัญคือ ลดการบริโภคอาหารรสเค็ม ซึ่งจะช่วยป้องกันมะเร็งในกระเพาะอาหารด้วย

งดอาหารดองเค็ม เช่น ปลาเค็ม ไข่เค็ม ผักผลไม้ดองเค็มทุกชนิด ลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือมาก เช่น กะปิ เต้าเจี้ยว ไตปลา ปลาร้า เต้าหู้ยี้ งดสิ่งปรุงแต่งจำพวกซุปก้อน ซุปผง รวมทั้งผงชูรสต่างๆ หรือผงปรุงรสที่ใส่มาในซองบะหมี่สำเร็จรูป เมื่อปรุงรสอาหารด้วยเกลือ น้ำปลา ซอสที่มีรสเค็ม ควรใช้ในปริมาณน้อยๆ วิธีปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงโรคกระดูกโปร่งบาง โรคกระดูกโปร่งบาง มักเกิดในหญิงวัยหมดประจำเดือน กระดูกสันหลังโค้งงอ และหักง่ายเมื่อล้มหรือถูกกระแทกอย่างแรง มีวิธีป้องกันดังนี้

ควรเริ่มดื่มนมและออกกำลังกายตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น ตลอดไปจนถึงวัยสูงอายุ รับประทานอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ออกกำลังกายกลางแจ้งด้วยวิธีที่กระดูกรับน้ำหนัก เช่น การเดินเป็นประจำสม่ำเสมอ จะเห็นได้ว่า การปฏิบัติตนในด้านการบริโภคเพื่อป้องกันโรคแห่งความเสื่อมในวัยสูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง กระดูกโปร่งบางและมะเร็ง ก็คือการรู้จักเลือกอาหารหลัก 5 หมู่ให้ดีที่สุด ประกอบกับจิตสำนึกในการที่จะบริโภคเพื่อป้องกันโรคที่กล่าวมา คุณควรลงมือปฏิบัติตั้งแต่วันนี้และตลอดไปจนเข้าสู่วัยทอง อย่ารอให้ถึงวัยที่โรคแห่งความเสื่อมมาเยือน เพราะอาจจะสายเกินไป เราสามารถชะลอและป้องกันมิให้เกิดโรคได้

สุขบัญญัติ 6 ประการเพื่อสุขภาพดี

การมีสุขภาพดีจะต้องอาศัยการดูแลตนเอง โดยการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา แนวทางที่จะขอแนะนำท่านทั้งหลายเพื่อเป็นข้อคิดและข้อปฏิบัติ เพื่อสุขภาพดีตลอดไป เราเรียก สุขบัญญัติ 6 ประการเพื่อสุขภาพดี ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้

สุขบัญญัติข้อที่ 1 คือ การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์พอดี

สุขบัญญัติข้อที่ 2 คือ การรับประทานอาหารที่ถูกต้อง

สุขบัญญัติข้อที่ 3 คือ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ

สุขบัญญัติข้อที่ 4 คือ หลีกเลี่ยงการบริโภคสารที่อันตรายต่อร่างกาย

สุขบัญญัติข้อที่ 5 คือ รู้จักบริหารจัดการกับความวิตกกังวลและการพักผ่อนที่เพียงพอ

สุขบัญญัติข้อที่ 6 คือ การตรวจเช็คร่างกายตามระยะเวลาที่เหมาะสม

ท่านผู้สนใจในสุขภาพทั้งหลาย แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่ต้องการมีสุขภาพดีอย่างแน่นอน สุขภาพดีเป็นหัวใจของความสำเร็จทั้งปวง เราจะมีคำถาม 14 ข้อให้ท่านตอบเพียงว่า ใช่หรือไม่ใช่ เท่านั้น ถ้าท่านตอบ "ใช่" ทั้ง 14 ข้อ ท่านจะมีโอกาสสูงมากที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดอายุขัยของท่าน ซึ่งท่านอาจจะอายุยืนไปถึง 100 ปีทีเดียว แต่ถ้าท่านตอบว่า "ไม่ใช่" หลายข้อ ท่านควรต้องคิดทบทวนแก้ไขว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร ถ้าท่านไม่มีปากกาหรือดินสอ ใช้นับนิ้วเอาก็ได้ค่ะ

1. ตัวท่านเองมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ใช่หรือไม่

2. ท่านนอนหลับได้ดีทุกคืนและตื่นขึ้นมาพร้อมความสดชื่นทุกวัน ใช่หรือไม่

3. หลังเลิกงานแล้ว ท่านยังมีกำลังพอที่จะไปงานสังคมตอนค่ำได้ ใช่หรือไม่

4. ท่านออกกำลังกายสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไปเป็นประจำ ใช่หรือไม่

5. ถ้าท่านดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสม ท่านเป็นผู้ที่ดื่มไม่มาก ใช่หรือไม่

6. ท่านเลิกสูบบุหรี่มานานแล้ว ใช่หรือไม่

7. ท่านสามารถเดินขึ้นบันไดตึกไปชั้นที่ 3 โดยไม่ต้องหยุดพัก ได้หรือไม่

8. ปกติท่านขับรถด้วยความระมัดระวัง และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ใช่หรือไม่

9. ท่านไปรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ใช่หรือไม่

10. ท่านเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพดี มีความสุขมาโดยตลอด ใช่หรือไม่

11. ท่านไม่เคยดื่มสุรา หรือเสพสารเสพติดในระหว่างขับรถ ใช่หรือไม่

12. ท่านไม่เคยใช้ยาที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกนึกคิด ใช่หรือไม่

13. ท่านทราบถึงสาเหตุ วิธีการติดต่อและการป้องกันโรคเอดส์เป็นอย่างดีแล้ว ใช่หรือไม่

14. ในปัจจุบัน ท่านไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ใช่หรือไม่

จากที่กล่าวมาข้างต้น หวังว่าคุณคงใช้เป็นแนวทางได้ว่าสุขภาพของคุณอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีหรือไม่นะคะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก